วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2553

ไข้หวัด 2009 ระลอก3 ระบาดต่อเนื่องในไทย




เมื่อวันที่ 14 ก.ย.ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสและประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมปฏิบัติการคุมเข้มไข้หวัดใหญ่ 2009 และไข้เลือดออก ผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนท์ของกรมควบคุมโรคไปยังสำนักงานควบคุมป้องกันโรคส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิส่วนกลางเข้าร่วม ว่า ขณะนี้ถือว่าการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช1เอ็น1 หรือ ไข้หวัดใหญ่ 2009 ในประเทศไทยอยู่ในระลอกที่ 3 โดยกลืนเข้าไปในการระบาดของไข้หวัดใหญ่ประจำปี ซึ่งจะระบาดเป็นประจำทุกปี ปีละ 2 ครั้ง
“แต่การระบาดของไข้หวัดใหญ่ในปีนี้มีความแปลกประหลาดกว่าปีก่อน คือ เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในปีนี้มีชนิดบี ชนิดเอ เอช3เอ็น2(H3N2) และสายพันธุ์2009 จะส่งผลให้เกิดการระบาดรุนแรงกว่าไข้หวัดใหญ่ประจำปีธรรมดา ซึ่งอาจจะส่งผลให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิตได้ถ้าไม่ระวังตัวอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ การที่กลุ่มเสี่ยงเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน จะช่วยให้การระบาดไม่รุนแรงได้ จึงขอให้ไปรับการฉีดวัคซีน อย่ากลัว” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าว
ด้าน นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การระบาดของโรคใน 2 รอบที่ผ่านมา ประเทศไทยมีคนติดเชื้อและมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติแล้วประมาณ 20 % และมีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันอีกประมาณ 4-5 % จึงยังมีผู้เสี่ยงติดเชื้ออีกถึง 75% ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ง่ายในการระบาดระลอก 3 คือ กลุ่มเด็กเล็กอายุ 0-5 ปี เนื่องจากการระบาดของโรค 2 รอบที่ผ่านมา เด็กกลุ่มนี้ยังติดเชื้อน้อย เพราะส่วนใหญ่ยังไม่เข้าโรงเรียนและอยู่กับบ้าน ทำให้ยังไม่มีภูมิคุ้มกันโรคตามธรรมชาติที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันพบว่า จำนวนผู้ป่วยเด็กที่เข้ารับการรักษาด้วยโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นประมาณ 20-30 % ทั้งในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โดย 60% เป็นไข้หวัดใหญ่ 2009 อีก 20-30 % เป็นชนิด บี และ 10 % ชนิดเอ สายพันธุ์เอช3เอ็น2


นพ.ทวี กล่าวอีกว่า เชื้อไข้หวัดใหญ่จะอยู่ในน้ำมูกของเด็กเล็กนานกว่าผู้ใหญ่ ส่งผลให้ระยะแพร่เชื้อในเด็กนานกว่าผู้ใหญ่ โดยจะแพร่เชื้อก่อนแสดงอาการ 2-3 วัน ขณะที่ผู้ใหญ่ 1 วัน และแพร่เชื้อหลังแสดงอาการแล้วได้นานถึง 14 วัน ส่วนผู้ใหญ่ 7 วัน ซึ่งการรักษาทำได้ด้วยการให้ยาโอเซลทามิเวียร์จนครบกำหนด ทั้งนี้ การวิจัยร่วมระหว่างประเทศไทยและเวียดนามเกี่ยวกับขนาดของการให้ยาโอเซลทามิเวียร์ พบว่า การให้ยาดับเบิลโด๊สให้ผลในการรักษาไม่ต่างจากการให้ยาในอัตราตามปกติ ส่วนอัตราการดื้อยาในผู้ใหญ่ประมาณ 1-1.5 % สำหรับเด็ก 4 % ถือเป็นเกณฑ์ปกติ เนื่องจากเชื้อไวรัสจะอยู่ในตัวเด็กนานกว่าผู้ใหญ่ จึงมีโอกาสปรับตัวและดื้อยาได้สูง แม้ไม่ใช่ปัญหาแต่แพทย์จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุเสี่ยงเสียชีวิตจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009มากกว่าเด็กเล็ก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น