วันเสาร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2553

โรคฉี่หนูคร่าตายแล้ว 26 มากับน้ำท่วม

สถานการณ์น้ำท่วมทั่วประเทศเริ่มคลายวิกฤติ แต่ยังมีหลายจุดถูกน้ำท่วมขังระบายไม่ทัน ชาวนาต้องเร่งเสริมคันนาหวั่นน้ำทะลักเข้าท่วมจนทำนาล่ม ครวญข้าวราคาตกต่ำเพราะเจอพิษน้ำท่วมแถมพ่วงด้วยหอยเชอรี่ระบาดจนสิ้นเนื้อประดาตัว วอนหน่วยงานราชการเร่งให้ความช่วยเหลือด่วน กระทรวงสาธารณสุขเตือนให้ระวังโรคฉี่หนูกำลังแพร่ระบาดหนัก พบปีนี้มีผู้ป่วยแล้วกว่า 2,600 ราย เสียชีวิต 26 ราย จ.บุรีรัมย์ ครองแชมป์ผู้ป่วยฉี่หนูสูงสุด สถานการณ์ฝนตกน้ำท่วมในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เริ่มคลี่คลายลงแล้ว ยกเว้นในบางจุดของบางจังหวัดที่ยังคงมีน้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย ขณะที่ความช่วยเหลือจากภาครัฐยังเป็น ไปอย่างเชื่องช้าตามระบบราชการนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 17 ก.ย.ว่า หลังมีฝนตก ติดต่อกันหลายวันในเขตพื้นที่ จ.นครสวรรค์ ทำให้มีน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มหลายอำเภอ พื้นที่การเกษตรเสียหายหลายนับหมื่นไร่ จนทางจังหวัดต้องประกาศ เขตภัยพิบัติ สถานการณ์น้ำท่วมล่าสุดที่หน้า ร.ร.บ้านหนองนมวัว ถนนสายนครสวรรค์-ลาดยาว ต.หนองนมวัว อ.ลาดยาว มีน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมผิวการจราจร ระยะทางยาวกว่า 1 กม. ระดับน้ำสูงราว 30 ซม. และมีน้ำไหลข้ามถนนตลอดเวลา สภาพการจราจรเป็นไปด้วยความล่าช้า รถทุกชนิดต้องค่อยๆวิ่งสวนกัน โดยเจ้าหน้าที่ได้นำไม้มาทาสีปักเป็นหลักให้เห็นแนวถนน ประชาชนบางส่วนต้องหันไปใช้เส้นทางสายลาดยาว-บรรพตพิสัยแทน ส่วนพื้นที่การเกษตรโดยรอบจำนวนหลายหมื่นไร่ ถูกน้ำท่วมมิดหมดแล้วที่ อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร พบพื้นที่ปลูกข้าว หมู่ 2 และหมู่ 3 ต.วังไทร มีน้ำป่าจาก อ.คลองลานไหลเข้าท่วมต้นข้าวที่มีอายุเพียงเดือนเศษจนมิด ส่วนบริเวณถนนสายท่าพุทรา-หัวถนน พบชาวนารวมกลุ่มพากันนำกระสอบมาบรรจุทราย ก่อนนำใส่เรือบรรทุกไปที่บริเวณริมคันนาที่มีน้ำท่วมขัง เพื่อทำเป็นทำนบกั้นน้ำเข้านาเพราะเกรงข้าวจะจมน้ำ โดยไม่มีหน่วยราชการใดเข้าไปให้ความช่วยเหลือ กลุ่มชาวนาบอกว่า ราคาข้าวเปลือกที่ขายได้ขณะนี้ถ้าเป็นข้าวที่คุณภาพดีไม่แช่น้ำ ขายได้เกวียนละ 6,100 บาท ส่วนข้าวเขียวที่ชาวนาเกี่ยวหนีน้ำ หรือข้าวแช่น้ำมีความชื้นสูง ขายได้เพียงเกวียนละไม่ถึง 5,000 บาท นางสุวรรณ นุ่มทอง อายุ 42 ปี อยู่บ้านเลขที่ 134 หมู่ 2 ต.คลองสมบูรณ์ เจ้าของนาข้าว เปิดเผยว่าทำนาไว้ 30 ไร่ ขณะนี้ต้นข้าวออกรวงเริ่มเหลือง เตรียมจะเก็บเกี่ยวในอีก 10 วันข้างหน้า แต่ประสบปัญหามีน้ำป่าจากคลองสมบูรณ์ ที่รับน้ำจาก อ.คลองลาน ไหลเข้าท่วม จึงระดมเพื่อนบ้านและญาติๆให้มาช่วยขนกระสอบทรายไปกั้นน้ำบริเวณคันนาโดยรอบทั้งแปลง เพื่อเสริมคันนาให้สูงขึ้น ที่ต้องลงทุนซื้อทรายมาบรรจุกระสอบไปเสริมคันนา เนื่องจากระดับน้ำสูงมาก คาดว่าถ้าไม่มีฝนตกลงมาอีก น้ำที่ท่วมขังน่าจะระบายได้ทัน เพื่อนบ้านที่มีนาข้าวอยู่ติดกัน เพิ่งเกี่ยวข้าวหนีน้ำไปเมื่อวาน ทั้งๆที่ข้าวยังไม่เหลือง ขายไม่ได้ราคา แต่ก็ต้องจำใจเกี่ยวเพราะกลัวว่าข้าวจมน้ำจะไม่ได้เงินเลย ตนได้ แต่หวังว่าฝนคงทิ้งช่วงให้บ้าง แต่ถ้าหากภายใน 3 วันนี้ น้ำยังไม่ลดระดับลง คงต้องตัดใจเกี่ยวข้าวทั้งที่ยังเขียวๆอยู่เหมือนกัน ที่ จ.พิษณุโลก เมื่อค่ำคืนที่ผ่านมาได้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ส่งผลให้ต้นโพธิ์ยักษ์อายุราว 200 ปี ภายในวัดคลองวัดไร่ หมู่ 4 ต.บางระกำ อ.บางระกำ หักโค่น ล้มลงเฉียดเมรุหวุดหวิด มีเพียงกระเบื้องมุงหลังคาศาลาธรรมสังเวชที่อยู่ใกล้เคียง ถูกกิ่งต้นโพธิ์หล่นใส่แตกเสียหาย 4 แผ่น จากการสอบถามพระภิกษุเพ็ญ จิตสฺโล อายุ 72 ปี พระลูกวัด เปิดเผยว่า ต้นโพธิ์ต้นนี้อยู่คู่กับวัดมานาน มีความกว้างโคนต้นขนาด 5 คนโอบ สูงประมาณ 30 เมตร คาดว่ามีอายุกว่า 200 ปี เหตุที่โค่นชนิดถอนรากถอนโคนน่าจะเกิดจากการมีฝนตกลงมาอย่างหนักในช่วงนี้ ดีที่ไม่ล้มทับเมรุและศาลพระภูมิที่อยู่ใกล้ที่สุดในทิศทางที่ต้นโพธิ์ล้มลงที่ ต.โคกก่อง อ.เมืองสกลนคร น้ำที่ล้นตลิ่งออกมาจากลำน้ำก่ำ ได้เอ่อเข้าท่วมเรือกสวนไร่นาของชาวบ้านเป็นบริเวณกว้างหลายพันไร่ โดยเป็นน้ำที่ล้นออกมาจากประตูระบายน้ำสุรัสวดี บริเวณหนองหาร แหล่งน้ำจืด ขนาดใหญ่ นายพรชัย ทาวังราช อายุ 54 ปี บ้านเลขที่ 128 หมู่ 3 บ้านหนองใส ต.โคกก่อง กล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านเดือดร้อนมาก เพราะนอกจากนาข้าวจะจมน้ำนานนับเดือนจนต้นข้าวเน่าตายหมดแล้ว ที่เหลืออีกเพียงเล็กน้อยก็มีหอยเชอรี่ระบาดอีกด้วย ตนปลูกข้าว 20 ไร่ เห็นทีต้องหมดตัว ลำพังเงินช่วยเหลือจากรัฐที่บอกว่าจะจ่ายค่าชดเชยให้ไร่ละ 606 บาทนั้นคงไม่พอแน่ เพราะในการทำนาต้องลงทุนถึงไร่ละ 3 พันบาท ไหนจะค่ารถไถ ค่าจ้างถอนต้นกล้า ค่าจ้างปักดำ ไหนจะค่าปุ๋ยที่กระสอบละกว่า 1 พันบาท ขณะนี้กำลังคิดว่าจะปลูกข้าวรอบใหม่หลังน้ำลด แม้จะไม่ได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ก็ดีกว่าอดตาย ที่ ต.หนองบัวศาลา อ.เมืองนครราชสีมา เกิดน้ำไหลบ่าท่วมบ้านเรือนประชาชนเป็นรอบที่ 2 ในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา บ้านเรือนกว่า 300 หลัง ในพื้นที่ 3 หมู่บ้านของ ต.หนองบัวศาลา ประกอบด้วย หมู่ 2 บ้าน หนองตะลุมปุ๊กเก่า, หมู่ 8 บ้านหนองตาคง และหมู่ 10 บ้านหนองตะลุมปุ๊กใหม่ ถูกน้ำท่วมได้รับความเดือดร้อนไปตามๆกัน ล่าสุดระดับน้ำท่วมยังคงทรงตัวอยู่ที่ 60 ซม.-1 เมตร ชาวบ้านต้องลุยน้ำออกไปใช้ห้องน้ำห้องสุขาที่ปั๊ม ปตท.ที่ตั้งอยู่ห่างไปราว 1 กม. และส่วนหนึ่งต้องไปใช้ห้องน้ำห้องสุขาของ อบต. และส่วนราชการที่อยู่ใกล้เคียง ทำให้ทั้งเด็กๆ ผู้หญิง และผู้สูงอายุต้องเดือดร้อนทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและสภาพจิตใจ หลายคนเกิดความเครียดจัดตะโกนด่าทอหน่วยงานราชการต่างๆนานา รวมทั้งการสัญจรเข้าออกก็เป็นไปด้วยความยากลำบากทุลักทุเล เนื่องจากมีรถยกสูงของ ปภ.จังหวัดนครราชสีมา เพียงคันเดียวที่ใช้รับส่งเข้าออกได้เร็วกว่าเรือท้องแบน 2 ลำ โดยเฉพาะช่วงเช้าและเย็นที่กระทรวงสาธารณสุข นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รมช.สาธารณสุข เปิดเผยว่า ในปีนี้มีฝนตกชุก อาจทำให้ บางโรคมีการแพร่ระบาดง่ายขึ้น ที่น่าห่วงคือโรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) ซึ่งพบผู้ป่วยตลอดปี และมักจะพบเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงฤดูฝนและหลังน้ำท่วม เนื่องจากเชื้อโรคที่อยู่ในฉี่ของหนูทุกชนิดที่ฉี่ไว้ตามพื้นดินต่างๆ จะกระจายไปกับน้ำที่ท่วมได้ง่าย และมีชีวิตอยู่ในน้ำได้นานหลายเดือน ดังนั้นผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อโรคฉี่หนูในขณะนี้ก็คือผู้ที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัย ผู้ที่ต้องทำงานในภาคเกษตร เช่น ชาวนา ชาวสวน ชาวประมงน้ำจืด สำหรับสถานการณ์โรคฉี่หนู ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-5 ก.ย.53 พบผู้ป่วยโรคฉี่หนู 2,621 ราย เสียชีวิต 26 ราย พบผู้ป่วยทุกภาค "แต่เมื่อวิเคราะห์ในช่วง 4 เดือนหลังจากที่มีฝนตกชุกในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ส.ค. จำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น รวม 4 เดือน มีผู้ป่วยโรคฉี่หนู 1,653 ราย เสียชีวิต 18 ราย คิดเป็นร้อยละ 60 ของผู้ป่วยทั้งหมด มากที่สุดคือในเดือน ก.ค.พบผู้ป่วย 513 ราย เดือน ส.ค. 500 ราย จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงที่สุดได้แก่ จ.บุรีรัมย์ 226 ราย ศรีสะเกษ 197 ราย ขอนแก่น 179 ราย สุรินทร์ 169 ราย กาฬสินธุ์ 100 ราย ส่วนในภาคเหนือพบผู้ป่วยมากที่สุดที่จังหวัดน่าน 38 ราย เชียงราย 34 ราย พะเยา 18 ราย" รมช.สาธารณสุขกล่าวนางพรรณสิริกล่าวอีกว่า ขอย้ำเตือนประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือการแช่น้ำนานๆ ถ้ามีบาดแผลตามร่างกาย หรือแค่รอยถลอก รอยขีดข่วน ควรงดลงน้ำ เนื่องจากเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายได้ 2 ทางคือ ทางบาดแผลและกินน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ แนะนำให้สวมรองเท้าบูตเพื่อป้องกันน้ำไม่ให้น้ำถูกแผล และระวังอย่าให้มีน้ำขังในรองเท้าบูตที่ใส่ หลังเสร็จภารกิจแล้ว ให้รีบอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด เช็ดตัวให้แห้ง กรณีผู้ที่ดื่มน้ำบ่อ ควรต้มให้เดือดเพื่อฆ่าเชื้อ กำจัดขยะไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของหนู อาหารที่ค้างคืนให้อุ่นให้เดือดก่อนรับประทาน ทั้งนี้ลักษณะอาการของโรคฉี่หนู จะมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะบริเวณน่อง หากมีอาการดังกล่าวให้รีบพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้ทราบด้วย เนื่องจากโรคนี้มียารักษาหายขาด หากไม่รีบรักษาและปล่อยไว้นานจนอาการมากขึ้น อาจเสียชีวิตได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น